เพลง สภาองค์รชุมชน
สุเวศน์ ภู่ระหงษ์, ว.พลเสน
สภาองค์กรชุมชน จัดตั้งในทุกตำบล
เป็นสภาของประชาชน เพื่อทุกคนร่วมแรงร่วมใจ
สภาองค์กรชุมชน รวมพลเพื่อเราก้าวไป
ชุมชนคนจันท์สดใส ใส่ใจชีวิตชุมชน
อุปสรรคปัญหาอันใด จะคลี่คลายด้วยเหตุผล
จากความคิดของเราทุกคน อุทิศตนรวมพลคนจันท์
สภาองค์กรชุมชน สร้างคนเป็นวิทยาทาน
ทุกปัญหานำพาจัดการ เพื่อคนจันท์สุขสรรค์นิรันดร
สภาองค์กรชุมชน รวมพลคนมีหัวใจ
คนจันท์เราสุขสดใส ก้าวไปด้วยใจมั่นคง
รู้จักสภาองค์กรชุมชน
ความเป็นมาของพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน
ชุมชน เป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ประสบความยากจน เกิดปัญหาสังคม กระนั้นก็ดี ชุมชนมีการใช้ทุนทางสังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา เพื่อการดำรงอยู่ ตลอดจนมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ยังจะนำไปสู่การสร้างระบบประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลให้ชุมชนมี บทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่น เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากเหตุการดังกล่าว จึงนำไปสู่ความคิดของการมีกฎหมายเพื่อรองรับการเกิดเวทีปรึกษาหารือของชุมชน ที่มีสถานะที่ชัดเจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นกฎหมายส่งเสริมไม่บังคับชุมชน สามารถดำเนินการเมื่อเกิดความพร้อมและเห็นพ้องต้องกัน รวมทั้งการคงความเป็นอิสระและความร่วมมือต่อกันของการทำงานในท้องถิ่น โดยในการดำเนินงานให้เกิด พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนมีลำดับความเป็นมา ดังนี้
1. ที่มา พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ปัจจุบัน มีพื้นที่ตำบลที่องค์กรชุมชน แกนนำธรรมชาติ ปราชญ์ชาวบ้าน แกนนำที่เป็นทางการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. และสถาบันในท้องถิ่น (วัด โรงเรียน สถานีอนามัย) ได้มีการทำงานพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การทำแผนชุมชน การจัดสวัสดิการ การจัดกาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การจัดการทุนของชุมชน จัดให้มีสภาผู้นำชุมชน ฯลฯ มีเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันคิด ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ นำไปสู่การสร้างเป้าหมายร่วมกันของพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจากการทำงานในแนวทางดังกล่าว ได้ช่วยให้เกิดการจัดการตนเองร่วมกันของชุมชนท้องถิ่น โดยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เกิดความสัมพันธ์อันดีภายในชุมชนท้องถิ่น
จากการที่ชุมชนท้องถิ่นได้ร่วมกันจัดการตนเองตามแนวทางดังกล่าว และทำให้เกิดความเข้มแข็งส่งผลดีต่อชุมชนท้องถิ่นโดยรวม แกนนำชุมชนที่มีประสบการณ์ และคนทำงานพัฒนา จึงได้ร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนขึ้นมา เพื่อให้มี พ.ร.บ. ที่จะช่วยหนุนเสริม สร้างการยอมรับการทำงานร่วมกันแบบสภาองค์กรชุมชน ทำให้กรณีตัวอย่างดี ๆ ที่ทำมาแล้วขยายออกไปพื้นที่อื่น พื้นที่ที่สนใจ และพร้อมจะร่วมกันสร้างสภาองค์กรชุมชน ที่ถือเป็นระบบประชาธิปไตยทางตรงจากฐานรากได้ร่วมกันทำเรื่องนี้ให้กว้าง ขวางยิ่งขึ้น
2. กระบวนการร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ในปี 2549 เครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมกับวิทยาลัยการจัดการทางสังคม จัดสรุปบทเรียน "ประชาธิปไตยชุมชน...การเมืองสมานฉันท์" และ จัดเวทีสังคมสนทนา "การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่น" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในระดับภูมิภาคทั้ง 8 ภาคเพื่อพัฒนาข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง โดยสาระหลักเป็นการปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารโดยกระจายอำนาจไปที่ชุมชนท้อง ถิ่น ให้มีอิสระในการจัดการตนเอง พร้อมกับพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อนำพาชุมชนและท้องถิ่นไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง จากนั้นในเดือน พ.ย.49 ผู้แทนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจำนวน 200 คน ได้เข้าพบและนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชนต่อนายกรัฐมนตรี (พลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์) ณ ทำเนียบรัฐบาล ต่อด้วยการยกร่างหลักคิดและเนื้อหาสาระ พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน และได้จัดเวทีระดมความเห็นผู้นำชุมชนสี่ภาค และเกิดคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งภายหลังได้จัดตั้งเป็นสมัชชาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย ( สอท.)
ต่อมาได้มีการจัดเวทีระดมความเห็นเกี่ยวกับร่างทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 10 เวที สรุปเป็นร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นเสนอต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนมีนาคม 2550 และในเดือนเมษายน ได้เสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการความมั่นคงของมนุษย์ (ครูชบ ยอดแก้วเป็นประธาน และครูมุกดา อินต๊ะสารเป็นรองประธาน) ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ สภานิติบัญญัติ (สนช.) ซึ่งครูหยุย (วัลลภ ตังคณานุรักษ์) เป็นประธาน ในช่วงเดือนเดียวกันก็ได้มีการสัมมนาเปิดภาพการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งมีเครือข่ายชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 1,800 คน โดยรองนายกรัฐมนตรีไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (นพ.พลเดช ปิ่นประทีป) เข้าร่วมเวที ซึ่งสรุปผลการสัมมนาเครือข่ายจะปฏิบัติการนำร่องสภาองค์กรชุมชน 200 ตำบล และจะผลักดันให้ พ.ร.บ. ผ่านในรัฐบาลชุดนี้ แต่หลังจากที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เสนอร่าง พ.ร.บ. เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (5 มิถุนายน 2550) ปรากฎว่าในคณะรัฐมนตรีมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนแต่บางส่วนคัดค้าน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา จากความเห็นที่มีทั้งการสนับสนุนและการคัดค้าน ทำให้สื่อมวลชนทำข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
ในช่วงเดือน มิถุนายน-สิงหาคม 2550 สถาบันวิชาการทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคมีการจัดเวทีระดมความเห็นเรื่องนี้ อย่างกว้างขวางในส่วนของเครือข่ายชุมชนจึงได้ไปทำงานร่วมกับคณะอนุ กรรมาธิการความมั่นคงของมนุษย์ ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ สภานิติบัญญัติ ซึ่งประธานสภานิติบัญญัติ (นายมีชัย ฤชุพันธ์) ได้มาช่วยซักถามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และปรับร่าง พ.ร.บ. จนสามารถเสนอ สนช. ได้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550 โดยรองนายกไพบูลย์ฯ ไปรับร่างจาก สนช. จากนั้นกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดระดมความเห็นหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับร่างที่จะเสนอโดย รัฐบาล (23 สิงหาคม 2550) แต่เมื่อยังมีผู้คัดค้านนายกรัฐมนตรีจึงเห็นสมควรให้ออกเป็นระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีไปก่อน โดยรัฐบาลไม่ได้ส่งร่างพ.ร.บ.ประกบร่างพ.ร.บ.ฉบับที่เสนอโดย สนช.เหมือนกฎหมายฉบับอื่น ๆ
ในส่วนของคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ สนช. ก็ได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง (27 สิงหาคม 2550) จากนั้นครูมุกดา อินต๊ะสาร ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ให้ที่ประชุม สนช.พิจารณารับหลักการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2550 ซึ่งได้มีผู้อภิปรายสนับสนุนสิบท่านคัดค้าน 1 ท่าน ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 61 เสียง ไม่เห็นด้วย 31 เสียง และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 22 ท่าน ไปพิจารณารายละเอียด ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2550 คณะกรรมาธิการวิสามัญโดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง 11 ครั้ง และนำเสนอ สนช. พิจารณาวาระที่สองและลงมติวาระที่สามในวันที่ 28 พ.ย. 50 ซึงที่ประชุม สนช. มีมติเห็นสมควรให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเอกฉันท์ 83 เสียง
เพลง สภาองค์รชุมชน โดย สุเวศน์ ภู่ระหงษ์ สภาของประชาชน ..รวมพลคนมีหัวใจ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment